Welcome to Ban Koh Mak school ** ^__^ ขอเชิญร่วมติชมเวบไซต์ก่อนออกนะคะ ขอบคุณค่ะ ^__^**

วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2552

โครงการทำขนมไทย




โรงเรียนบ้านเกาะหมากได้จัดโครงการทำขนมไทยขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้รู้จักวิธีการทำและเห็นคุณค่าของขนมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไทยมาแต่โบราณ อีกทั้งยังเป็นการนำเอาวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นจำนวนมาก นั่นคือ มะพร้าว มาเป็นส่วนประกอบ โดยได้รับความร่วมมือจากวิทยากรท้องถิ่นมาให้ความรู้แก่นักเรียน โดยโครงการจะมีไปตลอดช่วงเดือนมิถุนายน 2552 โดยจัดให้มีการเรียนทำขนมไทยทุกวันพุธ ช่วงเช้า ทุกสัปดาห์

ตัวอย่างวิธีการทำข้าวต้มมัด
วัตถุดิบ
◊ ข้าวเหนียวอย่างดีหน่อย ๑ กิโล
◊ มะพร้าวขูดขาว ๑ กิโล
◊ น้ำตาลทราย ๓ ถ้วยตวง
◊ เกลือ ๓ ช้อนชา
◊ กล้วยน้ำว้าสุกๆประมาณ ๒๐ ผล
◊ ถั่วดำ ๑ ขีด

อุปกรณ์
◊ หม้อใบใหญ่หน่อย หรือกระทะ สำหรับกวน
◊ ไม้พาย
◊ ใบตอง
◊ ตอก

การเตรียมอุปกรณ์
◊ ฉีกใบตองขนาดกว้างประมาณ ๙ นิ้ว เช็ดทำความสะอาดให้เรียบร้อย
◊ ตอก ให้แช่น้ำไว้สักครู่ จะได้นิ่มๆเวลามัดจะได้ไม่แตกง่าย

วิธีทำ
◊ เก็บกรวดเก็บทรายในถั่วดำออก แช่น้ำค้างคืนไว้ ๑ คืน แล้วพอเช้านำมาต้มให้สุก หรือหากมีเวลาน้อยจะนำถั่วไปต้มก่อนสัก ๑๕ นาที จากนั้นก็ดับไฟ ยกลงตั้งทิ้งไว้ สัก ๕-๖ ชั่วโมง แล้วก็นำไปต้มต่อก็จะสุกง่ายกว่า พอถั่วดำสุกดีแล้ว นำไปล้างให้สะอาดจนน้ำใส แล้วผึ่งใส่กระชอนไว้ให้สะเด็ดน้ำ พักไว้
◊ ข้าวเหนียว เก็บกรวดเก็บผงออก แช่น้ำไว้ ๑ คืนเช่นกัน พอได้เวลาสรงใส่กระชอนให้สะเด็ดน้ำ พักไว้
◊ มะพร้าวขูดขาว นำไปคั้นกะทิให้ได้หัวกะทิประมาณ ๓ ๑/๒ ถ้วย
◊ ผสมกะทิ น้ำตาลทราย เกลือ เข้าด้วยกัน ในกระทะทองหรือหม้อที่เราจะใช้กวน ชิมให้ออกรสเข้ม คือ หวานจัด เค็มจัด (หวานกว่าที่คิดว่าหวาน เค็มกว่าที่คิดว่าเค็ม) เพราะเดี๋ยวเมื่อเราเอาไปผัดกับข้าวเหนียว ตัวข้าวเหนียวจะดูดน้ำหวานเข้าไป ถ้าหวานเค็มไม่พอ ข้าวเหนียวจะจืดได้
◊ จากนั้นนำข้าวเหนียวลงผสมในน้ำกะทิ นำขึ้นกวนไปเรื่อยๆ ใช้ไฟกลาง จนกระทั่งงวดแห้ง ยกลงตั้งทิ้งไว้ให้ข้าวเหนียวเย็น
◊ ระหว่างนี้ก็ปอกกล้วยน้ำว้าไว้ (จะปอกไว้ก่อนหน้านี้ก็ได้) กล้วย ๑ ลูก ให้ผ่าตามยาว จะได้ กล้วย ๒ ซีก หรือ 4 ซีกตามขนาดของกล้วย
◊ เริ่มห่อ ห่อจนเสร็จก็นำไปนึ่ง
◊ นึ่งประมาณ ๑ ๑/๒ ถึง ๒ ๑/๒ ชั่วโมงหรือจนสุก

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พิธีไหว้ครู




พิธีไหว้ครู เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่ง และนับเป็นประเพณีของไทยที่นิยมปฏิบัติมาแต่สมัยโบราณ แสดงถึงความระลึกถึงบุญคุณของครู การไหว้ครู ยังเป็นการแสดงตน ว่าตนเองขอเป็นศิษย์ของท่านโดยตรง เป็นการเคารพครูให้ถูกต้อง แสดงความนอบน้อมอย่างถูกวิธี ปวารณาตนให้ครูได้รับรู้ ว่าเราเป็นศิษย์ของท่านแล้ว พร้อมที่จะน้อมรับคำสั่งสอน ดุด่าว่ากล่าวจากท่านทุกประการ

การไหว้ครูมีใช้ในหลายกิจกรรมเช่น การไหว้ครูในโรงเรียน พิธีกรรมของโรงเรียนในวันครู การไหว้ครูมวย เป็นการไหว้ครูด้วยลีลาของศิลปะมวยไทย เช่นเดียวกับกระบี่กระบอง การไหว้ครู ก่อนการแสดงศิลปะดนตรี เช่น หนังตะลุง และการไหว้ครูในงานประพันธ์ เรียกว่า บทไหว้ครู หรือ อาเศียรวาท (อาเศียรพาท ก็ว่า) เป็นการกล่าวระลึกถึงบุญคุณครู และขอความเป็นมงคล
ดอกไม้ที่ใช้ในการไหว้ครู

ในพิธีไหว้ครูนับตั้งแต่สมัยก่อน จะใช้ดอกไม้หลัก 3 อย่างในการทำพาน ซึ่งดอกไม้ ความหมายในการระลึกคุณครู ได้แก่

1. หญ้าแพรก สื่อถึง ขอให้เรียนได้เร็วเหมือนหญ้าแพรก ที่โตได้เร็วและทนต่อสภาพดินฟ้า อากาศ ทนต่อการเหยียบย่ำ ซึ่งเปรียบเสมือน คำดุด่าของครูบาอาจารย์
2. ดอกเข็ม สื่อถึง ขอให้มีสติปัญญาเฉียบแหลม เหมือนชื่อของดอกเข็ม
3. ดอกมะเขือ สื่อถึง การเปรียบเทียบว่า มะเขือนั้น จะคว่ำดอกลงเสมอเมื่อจะออกลูก แสดงถึง นักเรียนที่จะเรียนให้ได้ผลดีนั้นต้องรู้จักอ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นคนสุภาพเรียบร้อย เหมือนมะเขือที่โน้มลง
4. ข้าวตอก เนื่องจากข้าวตอกเกิดจากข้าวเปลือกที่คั่วด้วยไฟอ่อนๆ ให้ร้อนเสมอกันจนถึงจุดหนึ่งที่เนื้อข้างในขยายออก จนดันเปลือกให้แยกออกจากกัน ได้ข้าวสีขาวที่ขยายเม็ดออกบาน ซึ่งสามารถนำไปประกอบพิธีกรรม หรือทำขนมต่างๆได้ ดังนั้น ข้าวตอกจึงเป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย หากใครสามารถทำตามกฎระเบียบ เอาชนะความซุกซนและความเกียจคร้านของตัวเองได้ ก็จะเหมือนข้าวตอกสีขาวที่ถูกคั่วออกจากข้าวเปลือก

วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ห้องเรียน TRT


ปัจจุบันโรงเรียนบ้านเกาะหมากสอนตามหลักสูตรสถานศึกษา ปีพุทธศักราช 2544 (ปรับปรุง 2545 )และเป็นโรงเรียนทดลอง การเรียนการสอน รูปแบบใหม่ เมื่อ 9 มิถุนายน 2551 ที่เรียกว่า TRT
T ตัวแรกมาจากคำว่า Three in one
R มาจากคำว่า Run together
T มาจาก คำว่า Teacher conduct
รวมความแล้วคือรวม 3 อย่างเข้าด้วยกันคือ ครู หลักสูตร ห้องเรียน เข้าเป็นหนึ่งเดียว เพื่อแก้ปัญหาการขาดครูในโรงเรียนขนาดเล็ก ครูไม่ครบชั้น

เส้นทางสู่เกาะหมาก


จากสถานีขนส่ง จ.ตราด นังรถสองแถวสาย ตราด-แหลมงอบ ค่าโดยสาร 50 บาท ถึงท่าเรือใช้เวลาประมาณ 10 นาที
ค่าเรือ (speed boat)คนพื้นที่เกาะหมาก 250 บาท นักท่องเที่ยว 450 บาท ใช้เวลาประมาณ 45 นาที

ประวัติโรงเรียน


ประวัติความเป็นมาของโรงเรียน
โรงเรียนบ้านเกาะหมาก เดิมชื่อว่า “โรงเรียนประชาบาลตำบลเกาะหมาก” (บ้านเกาะหมาก) เปิดทำการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2482 โดยใช้สถานที่เรียนเป็นโรงเรือน ของนายฝั่ง สุทธิธนกูล เจ้าของสวนมะพร้าวอ่าวนิด มีนักเรียน 32 คน ครู 2 คน คือนายมนัส โชติมา และนายอ่วย จันทสาร ต่อมามีเด็กเพิ่มขึ้น สถานที่เรียนคับแคบ นายสละ วงษ์ศิริ เป็นผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น ได้ชักชวนชาวบ้าน คหบดี เจ้าของสวน สละทรัพย์ได้จำนวน 1,545 บาท ก่อสร้างอาคารใหม่ ในปี พ.ศ. 2484 โดยก่อสร้างในที่ดินของนายประโยชน์ สุขสถิตย์ ซึ่งอุทิศให้จำนวน 4 ไร่ โดยมีนายยง ครุพานิช เป็นช่างก่อสร้างและไม่คิดค่าแรง ใช้เวลาสร้าง 11 เดือน และเปิดใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2486 โดยยังใช้ชื่อเดิมโดยมีนายชิต จีรานิล เป็นครูใหญ่ และนายสละ วงษ์ศิริ เป็นผู้อุปถัมภ์
ต่อมาปี 2513 องค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด ได้จัดสรรงบประมาณให้จำนวน 120,000 บาท เพื่อก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่แบบ ป.1 ข 1 หลัง จำนวน 3 ห้องเรียน และเปิดทำการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2514
พ.ศ.2520 องค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด ได้จัดสรรงบประมาณให้เป็นจำนวน 136,000 บาท เพื่อต่อเติมอาคารเรียนอีก 2 เรียน สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2520
พ.ศ.2521 องค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด ได้จัดสรรงบประมาณให้อีก จำนวน 97,000 บาท เพื่อต่อเติมอีก 1 ห้องเรียน สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2521
พ.ศ.2527 สภาตำบลเกาะหมาก ได้สร้างศูนย์ข้อมูล อาคารอเนกประสงค์ขึ้นในพื้นที่ของโรงเรียน 1 หลัง โดยใช้งบประมาณ กสช. จำนวน 169,835 บาท โดยให้โรงเรียนดูแลและให้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมการเรียนการสอน
เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงดังนี้
การเปลี่ยนแปลงชื่อโรงเรียน เมื่อปี พ.ศ. 2495 กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการปรับปรุงนามโรงเรียนโดยตัดคำว่า “ประชาบาล” ออก เหลือ “โรงเรียนบ้านเกาะหมาก” (วงษ์ศิริอุปถัมภ์)
ต่อมาปี พ.ศ.2515 พระราชชนนีศรีสังวาล ได้เสด็จมาเยี่ยมเกาะหมาก และมีผู้เสนอให้เปลี่ยนสร้อยคำชื่อโรงเรียนเสียใหม่และได้รับพระราชทานนามว่า “โรงเรียนบ้านเกาะหมาก (สถิตย์สุทธิวงษ์)” คำว่า “สถิตย์” มาจาก “สุขสถิตย์” เป็นนามสกุลของนายประโยชน์ ซึ่งมอบที่ดินให้โรงเรียน จำนวน 3 ไร่ 2 งาน 6 ตารางวา คำว่า “สุทธิ” มากจาก “สุทธิธนกูล” ซึ่งเป็นนามสกุลของนายธรรมนูญ ซึ่งมอบที่ดินให้จำนวน 118 ตารางวา และคำว่า “วงษ์” มาจากคำว่า “วงษ์ศิริ” ซึ่งเป็นนามสกุลของนายสละ และนายสถิตย์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียน และมอบที่ดินเพิ่มให้อีกจำนวน 2 ไร่ 36 ตารางวา เมื่อ พ.ศ.2519 โรงเรียนนี้จึงชื่อว่า “โรงเรียนบ้านเกาะหมาก (สถิตย์สุทธิวงษ์)
ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ปี พ.ศ.2482 เปิดเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
ปี พ.ศ.2488 เปิดเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ปี พ.ศ.2520 เปิดเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ปี พ.ศ.2521 เปิดเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ปี พ.ศ.2542 เปิดเรียนระดับก่อนประถมศึกษา
ในปี พ.ศ.2521 ได้เปลี่ยนแปลงหลักสูตรใหม่ โดยใช้หลักสูตรใหม่เป็นหลักสูตร พ.ศ.2521 และเปิดเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 และเปิดระดับก่อนประถมศึกษาเมื่อพ.ศ. 2542
ในปี พ.ศ.2544 ได้เปลี่ยนแปลงหลักสูตร เป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 โดยโรงเรียนได้เป็นโรงเรียนเครือข่ายการใช้หลักสูตรใหม่ในครั้งนี้โดยเริ่มใช้ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ปัจจุบันโรงเรียนบ้านเกาะหมาก สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
กระทรวงศึกษาธิการ
โรงเรียนประสบอัคคีภัย เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2533
ได้เกิดเพลิงไหม้บ้านพักครูและไหม้โรงเรียนเสียหายทั้งหมด นักเรียนย้ายมาเรียนที่อาคารอเนกประสงค์โดยต่อเติมหลังคาด้านข้างของอาคาร และจัดแบ่งล๊อคเป็นห้อง ๆ เพื่อทำการสอน ปัจจุบันอาคารเรียนมีจำนวน 2 หลัง คือ แบบ สปช 102 /26 และ แบบ สปช 103/26 ซึ่งก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2535 พร้อมบ้านพักครู 1 หลัง
ผู้บริหารโรงเรียนตั้งแต่เริ่มจัดตั้งโรงเรียนมีจำนวนหลายคน และคนปัจจุบัน คือนางเพลินตา ตะเวทีกุล ดำรงตำแหน่งครูใหญ่เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2540
โรงเรียนบ้านเกาะหมาก มีพื้นที่ทั้งสิ้น 8 ไร่ 20 ตารางวา มีอาคารเรียน 2 หลัง 7 ห้องเรียน อาคารอเนกประสงค์ 1 หลัง ส้วมนอกอาคาร 2 หลัง สนามเด็กเล่น 1 แห่ง
จำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 47 คน ( 10 มิถุนายน 2550 ) จำนวนห้องที่จัดการเรียนการสอน 4 ห้องเรียน จำนวนครู 4 คน นักการภารโรง 1 คน
สถานที่ตั้ง หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะหมาก กิ่งอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ระยะทางจากที่ว่าการกิ่งอำเภอเกาะกูดถึงโรงเรียนบ้านเกาะหมากทางน้ำประมาณ 20 กิโลเมตร
ขนาดพื้นที่ โรงเรียนมีพื้นที่ประมาณ 8 ไร่ 20 ตารางวา โดยผู้บริจาค
การเรียนการสอน เปิดสอนตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาและระดับประถมศึกษา และหลักสูตรการศึกษา ขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 โรงเรียนเป็นแกนนำโรงเรียนเครือข่ายการบริหารจัดการหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับอำเภอ
การเรียนการสอนปัจจุบันใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ทุกระดับชั้น
คำขวัญของโรงเรียน
ประพฤติดี มีวินัย ใฝ่ศึกษา รู้ค่าชีวิต
สีประจำโรงเรียน
เหลือง – น้ำเงิน
อักษรย่อโรงเรียน ก.ม.

คณะกรรมการสถานศึกษา

Uploaded with ImageShack.us

เกาะหมาก

สวนพรหมประสาท หาดพรหมภักดี